อดีตนักการเมืองบวชพระ บุกรุกโบราณสถาน วัดดอยข่อยเขาแก้ว จังหวัดตาก ตั้งตนเป็นเจ้าอาวาส ชาวพุทธรวมตัวร้องเรียนสำนักพุทธฯ
10 เม.ย. 68 เวลา 10.00 น. ที่อาคารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑลสาย 4 คณะนักวิชาการและทนายความนำโดย นายสุชาติ กนกรัตน์มณี ประธานชมรมตามรอยเจ้าตาก, นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการศาสนา, และทนายอรรณพ บุญสว่าง ทนายความด้านพระพุทธศาสนา ได้เข้าพบรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อร้องเรียนกรณีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งที่บวชเป็นพระ แล้วเข้าไปครอบครองพื้นที่โบราณสถาน “วัดดอยข่อยเขาแก้ว” จังหวัดตาก พร้อมมีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม โดยไม่ขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



และประกาศจะจัดพิธีอุปสมบทหมู่ในวันที่ 17 เมษายนนี้ โดยไม่มีการขออนุญาตจากกรมศิลปากร หรือหน่วยงานทางสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท

นายจตุรงค์ กล่าวเสริมว่า โบราณสถานเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปบุกรุกหรือปลูกสร้างสิ่งใดได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือมหาเถรสมาคม และที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือสถานที่ดังกล่าวเคยมีคำวินิจฉัยชัดเจนจากอดีตเจ้าคณะจังหวัดตั้งแต่ปี 2563 ว่า “สีมาวิบัติ” และ “หินต่าง ๆ เคลื่อนหมดแล้ว” ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถใช้ประกอบพิธีบวชหรืออุปสมบทใด ๆ ได้เลย แม้ว่าทางสำนักพุทธฯ จะเคยออกคำสั่งให้พระรูปดังกล่าวออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังฝ่าฝืนอยู่ในพื้นที่ ไม่สนคำสั่งเจ้าคณะปกครอง

ชาวบ้านในพื้นที่เองต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียงก็มีวัดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างวัดขึ้นใหม่บนพื้นที่โบราณสถาน อีกทั้งยังมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนทั่วไป สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

นายสุชาติ กล่าวว่า วัดดอยข่อยเขาแก้ว เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยประทับอยู่ที่วัดแห่งนี้และทำพิธีเสี่ยงทายพระบารมี จึงถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ การที่บุคคลใดจะเข้าไปบุกรุก ยึดครอง หรือปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

เคยมีคำสั่งเมื่อปี 2563 ให้พระรูปนี้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน
ข้อมูลจากการตรวจสอบยังระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีคำสั่งเมื่อปี 2563 ให้พระรูปนี้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน แต่ก็ยังคงไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ซ้ำยังตั้งชื่อวัดขึ้นมาใหม่ พร้อมใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “วัด” แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้ประชาชนจากนอกพื้นที่เดินทางมาเยี่ยมชมและร่วมทำบุญ จนเกิดความเข้าใจผิดและสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง

นายบุญเชิด รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า สำนักพุทธฯ ได้รับเรื่องไว้แล้ว และจะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมอุปสมบทหมู่ในพื้นที่วัดร้าง ซึ่งไม่เหมาะสม พร้อมส่งหนังสือไปยังสำนักพุทธศาสนาจังหวัดตาก เพื่อให้พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่อีกครั้ง ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร และสำนักพุทธฯ ได้ชะลอการบูรณะเพื่อพิจารณาการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสมบัติของชาติเป็นสำคัญ
